หนังสือที่ระลึกวันกำลังสำรอง ประจำปี ๒๕๖๔
ความหมายของ “กำลังสำรอง”
คำว่า “กำลังสำรอง” หมายถึง “กำลังที่มีใช่ประจำการและกองประจำการ ที่เตรียมไว้สำหรับใช้ในยามสงคราม ยามประกาศกฎอัยการศึก ยามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือในยามปฏิบัติการด้วยการใช้กำลังทหารขนาดใหญ่ เพื่อปกป้องคุ้มครองรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ” ได้แก่
๑. กำลังพลสำรอง หมายถึง บุคคลซึ่งเป็นกำลังสำรองประเภทหนึ่งตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหมที่มีการบรรจุในบัญชีบรรจุกำลังตามกฎหมายว่าด้วยกำลังพลสำรอง ซึ่งประกอบด้วย กำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน และกำลังพลสำรองเตรียมพร้อม
๒. กำลังกึ่งทหาร หมายถึง กำลังในส่วนที่บรรจุในหน่วยตามอัตราการจัดและยุทธภัณฑ์ในลักษณะคล้ายคลึงกับหน่วยประจำการ มีขีดความสามารถเข้าทำการรบได้ในระดับหนึ่ง เช่น หน่วยทหารพราน กองอาสารักษาดินแดน ตำรวจตระเวน ชายแดน ฯลฯ เป็นต้น
๒.๑ อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) โครงการ อส.ทพ. ได้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี ๒๕๒๒ ซึ่งมีศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดตั้งให้ทั้ง ๔ กองทัพภาค โดยมีภารกิจปราบปรามผู้ก่อการร้าย ต่อมากองทัพบกได้มอบให้กองทัพภาคต่าง ๆ เป็นผู้ควบคุมกำกับดูแล อส.ทพ.ในเขตพื้นที่ของแต่ละกองทัพภาค ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานมากขึ้น
๒.๒ อาสารักษาดินแดน (อส.) เป็นส่วนหนึ่งของกิจการอาสารักษาดินแดน ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเป็นเจ้าหน้าที่โครงกิจการอาสารักษาตินแดนนี้ เดิมมีความมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมคนไทยให้รู้จักหน้าที่ในการป้องกันรักษาประเทศชาติในเวลาสงคราม ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี ๒๔๘๔ ในขั้นแรกต้องการให้เป็นกองกำลังใช้ต่อต้านข้าศึก แต่ต่อมาเกิดการขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์และเกรงว่าอาจจะเป็นภัยแก่ราษฎรมากเกินไป จึงเปลี่ยนความมุ่งหมายให้มาทำหน้าที่ช่วยรบปฏิบัติการร่วมกับทหารและยกเลิกไป เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ภายหลังกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมได้รื้อฟื้นกิจการ อส. ขึ้นใหม่ โดยออกเป็น พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินกิจการกองอาสารักษาดินแดนมาจนทุกวันนี้ กิจการของ อส. ได้พัฒนาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี ๒๕๑๖ ทบ. ได้จัดตั้งหน่วยรับผิดชอบทางฝ่ายอำนวยการขึ้น เพื่อจัดการประสานงาน, วางแผน, กำกับดูแลกิจการ อส. โดยมีความมุ่งหมายที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพ ของ อส. ให้สามารถทำการปราบปราม ผกค. อย่างได้ผล โดยจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเป็นเจ้าหน้าที่โครงกิจการให้แก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด (ร้อย.อส.จ.) ในตำแหน่งที่สำคัญ เช่น ผบ.ร้อย., ผบ.หมวด, ผบ.หมู่, จ่ากองร้อย เป็นต้น
๒.๓ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ตั้งแต่ปี ๒๔๙๔ ประเทศไทยได้เริ่ม จัดตั้ง “หน่วยตำรวจรักษาดินแดน” โดยความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อการยับยั้งและปราบปรามลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาเผยเพร่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มีลักษณะเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ต่อมาปี ๒๔๙๖ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้จัดตั้ง “กองบัญชาการตำรวจรักษาชายแดน” เพื่อต่อต้าน กกล.คม. ตามแนวชายแดน เนื่องจากเกรงว่าหากมีการเคลื่อนย้ายกำลังทหารไปไว้ตามแนวชายแดน อาจกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากการจัดตั้งหน่วยตำรวจรักษาดินแดน และ บก.ตร.รักษาชายแดน เป็นไปในลักษณะเร่งรีบตามสถานการณ์บีบบังคับ ทำให้เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนในเรื่องการปฏิบัติงานและการบังคับบัญชา ในปี ๒๔๙๗ ได้ยุบรวมทั้งสองหน่วยงานเข้าด้วยกัน จัดตั้งเป็นกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บก.ตชด.) หลังจากนั้นยังมีการปรับปรุงโครงสร้างอีกหลายครั้ง ต่อมาปี ๒๕๒๐ คำสั่ง สน.นรม. ที่ สร..๒๐๗/๙๕ ลง ๒๐ มิ.ย. ๒๐ ให้ บก.ตชด. ขึ้นในความควบคุมทางยุทธการกับ บก.ทหารสูงสุด เพื่อให้ ตชด. มีมาตรฐานในด้านการจัดการฝึกยุทโปกรณ์ การติต่อสื่อสาร และการส่งกำลังบำรุง เป็นแบบอย่างเดียวกับทหาร สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– บก.ตชด. ภาค ๑, ๒, ๓ และ ๔ ขึ้นควบคุมทางยุทธการกับ ทภ.๑, ๒, ๓ และ ๔ ตามลำดับ
– ตชด. ในพื้นที่ จว.จันทบุรี, จว.ตราด ขึ้นกับ ทร.
๓. กลุ่มพลังมวลชนจัดตั้ง หมายถึง กลุ่มกำลังมวลชนที่มีการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มกองหนุนเพื่อความมันคงของชาติ (กนช.), กลุ่มไทยอาสาป้องกันชาติ (ทส.ปช.), กลุ่มอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.)
๓.๑ กองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ (กนช.) โครงการ กนช. เป็น โครงการที่รับผิดชอบของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลได้มีนโยบายให้กองทัพได้พิจารณาใช้กลุ่มทหารกองหนุนเป็นหลักในการจัดตั้งมวลชนตามแนวทางประชาธิปไตย โดยใช้ชุมนุมชนระดับหมู่บ้านเป็นพื้นฐานในการจัดตั้งองค์กร ดังนี้.
– วัตถุประสงค์เพื่อเสริมความมั่นคงของชาติในด้านต่าง ๆ คือ การเมือง ส่งเสริมให้ทหารกองหนุนมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นและปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองให้บุคคลทั่วไปเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เศรษฐกิจ ส่งเสริมพัฒนา อาชีพและยกระดับการครองชีพของชุมนุมชนในหมู่บ้านให้สูงขึ้น ซึ่งจะอำนวยให้ฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนโดยส่วนรวม บรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สังคมจิตวิทยา ส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ ตลอดจนเสริมสร้างระเบียบ วินัย ความสามัคคีเป็นการปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมให้เกิดขึ้นในสังคมท้องถิ่น การทหาร เพื่อให้ทหารกองหนุน ทหารกองเกิน ผนึกกำลังรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเป็นกำลังรักษาความปลอดภัยในท้องถิ่น สนับสนุนข่าวในพื้นที่ แก่หน่วยทหาร และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
– แนวความคิดในการจัดตั้งองค์กรทหารกองหนุนเป็น ๔ ระดับ คือ ระดับหมู่, ตำบล, อำเภอ และจังหวัด การสมัครเป็นสมาชิกจะต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้สมัครเอง ด้วยการยื่นใบสมัครโดยตรงต่อสัสดีอำเภอ โดยไม่มีการบังคับด้วยวิธีทางใด ๆ ทั้งสิ้น การดำเนินงานภายในองค์กร เช่น การคัดเลือกผู้บังคับทหารกองหนุนหมู่บ้าน, ผู้บังคับทหารกองหนุนตำบล, ผู้บังคับทหารกองหนุนอำเภอ, ผู้บังคับทหารกองหนุนจังหวัด ตลอดจนการจัดกิจกรรมสนับสนุนโครงการทุกประเภท ให้ดำเนินการตามวิถีทางประชาธิปไตย
๓.๒ ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทส.ปช.) จัดตั้งขึ้นเพื่อผนึกกำลังกลุ่มราษฎรอาสาสมัครต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ไทยอาสาป้องกันตนเอง (ทส.ป.), อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน (อปพร.), ราษฎรอาสาป้องกันตนเอง (รอป.), กองกำลังติดอาวุธ (กตอ.), กลุ่มเสียงชาวบ้าน ฯลฯ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเข้าใจสับสนในเรื่องการเรียกชื่อการจัดตั้ง การฝึกอบรม การควบคุมดูแลและเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ ไทยอาสาป้องกันชาติ จำแนกเป็น ๒ ประเภท ตามวัตถุประสงค์ ดังนี้.
ประเภทป้องกันตนเอง มีวัตถุประสงค์เน้นหนักในเรื่อง
– ต่อต้านและป้องกันการก่อการร้ายของฝ่ายข้าศึก หรือภัยจากการกระทำของข้าศึก
– ต่อต้านและป้องกันการก่อการไม่สงบทุกรูปแบบ
– รักษาในหมู่บ้านหรือท้องถิ่นของตนเอง
ประเภทคุ้มครองพัฒนา มีวัตถุประสงค์เน้นหนักในเรื่อง
– ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
– ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ
– อาสาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
๓.๓ อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) เป็นโครงการของชาติที่จะรวมเอาโครงการพัฒนาในสาขาต่าง ๆ ในระดับหมู่บ้านเข้าด้วยกัน โดยอาศัยการบริหารแบบรวมการของงานเดียวหรือหน่วยงานเดียวกัน แต่แยกกันรับผิดชอบในการบริหารในแต่ละโครงการย่อยของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจะผนึกกำลังตามโครงการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เสริมสร้างให้หมู่บ้านเข้มแข็งในทางเศรษฐกิจและสังคม มีกำลังที่จะต่อต้านการก่อสร้างคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันก็หลีกเลียงและขจัดการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้ใช้เครื่องมือเกี่ยวกับการพัฒนาและป้องกันตนเองในระดับหมู่บ้านให้บังเกิดผลสูงสุด โครงการ อพป. นี้ประกอบด้วย เรื่องสำคัญ ๔ สาขา คือ
– การรักษาความปลอดภัยในชนบท หมายถึง การจัดตั้งกลุ่มรักษาความปลอดภัย การฝึกอบรมและการติดอาวุธให้แก่ราษฎรในหมู่บ้าน เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ป้องกันหมู่บ้านของเขาด้วยตัวของเขาเองเป็นหลัก
– การพัฒนาชนบท หมายถึง การรวมกิจกรรมการพัฒนา การบริการของสาขางานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ให้ประชาชนได้รับรู้การพัฒนาส่งเสริม อาชีพ และการจัดบริการสังคมทุกสาขางาน
– จัดระเบียบบริการหมู่บ้าน หมายถึง การรวมกิจกรรมการพัฒนา การบริการของสาขางานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ให้ประชาชนได้รับรู้การพัฒนาส่งเสริม อาชีพ และการจัดบริการสังคมทุกสาขางาน
– จัดระเบียบบริหารหมู่บ้าน หมายถึง การจัดให้ประชาชนได้เข้าร่วมในกิจกรรมปกครองพัฒนา, เศรษฐกิจสังคมในหมู่บ้าน
ซึ่งจะก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ราษฎรมีความสุขสมบูรณ์
๔. กลุ่มพลังมวลชนอื่น ๆ หมายถึง กลุ่มพลังมวลชนที่มีการจัดตั้งนอกเหนือจากข้อ ๓ เช่น กลุ่มพลังมวลชนที่จัดตั้งโดยองค์กร หรือส่วนราชการต่าง ๆ

 

ผู้บังคับบัญชา

ผู้บังคับบัญชา

ฟังสบายๆ สไตล์ รด.